แม้ว่าแม่มี้จะเริ่มต้นทำควิลท์ตามสไตล์และเทคนิคของควิลท์เตอร์ฝั่งอเมริกา แต่ก็ถูกใจงาน ของควิลท์เตอร์ชาวญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อได้ไปเดินชมงานควิลท์โชว์ที่ญี่ปุ่นก็เห็นได้ถึงความแตกต่างของงานทั้งสองสไตล์อย่างชัดเจน จนคิดว่าน่าจะมาจากพื้นฐานวัฒนะธธรมและการใช้ชีวิตของควิลท์เตอร์ที่แตกต่างกัน
เอกลักษณ์งานหัตถกรรมของชาวญี่ปุ่นมีความเด่นชัด มองแวบเดียวก็รู้ได้ทันทีว่างานชิ้นนี้มาจากญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเองก็ให้ค่ากับงานทำมือสูงมาก พวกเขาชื่นชอบและชื่นชมงานหัตกรรมแขนงต่าง ๆ รวมถึงพยายามอนุรักษ์งานหัตถกรรมทุกประเภท สำหรับงานควิลท์นั้น ญี่ปุ่น “นำเข้า” มาจากอเมริกาอย่างไม่ต้องสงสัย และคาดว่าควิลท์เริ่มเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และมีการเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันชนอย่างแพร่หลายผ่านทางละครโทรทัศน์และภาพยนต์ต่าง ๆ
หัตถกรรม Sashiko
Sashiko คือ งานปักรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำกันมาอย่างยาวนานในประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมักใช้ Sashiko ในการทำเสื้อผ้า ผ้านวม หรือของใช้ต่าง ๆ ซึ่งงาน Sashiko จะมีความใกล้เคียงกับงานควิลท์เป็นอย่างมาก จึงน่าจะทำให้ควิลท์เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น และยังมีการดัดแปลงนำลวดลายของ Sashiko มาใช้ในการควิลท์อีกด้วย
ความโรแมนติก
คนญี่ปุ่นชื่นชอบความโรแมนติก ความรู้สึกอ่อนโยน รูปแบบ American Cottage Quilt ตรงใจหญิงชาวญี่ปุ่นทันที และเชื่อกันว่า ละครเรื่อง Little House on the Prairie ช่วยเผยแพร่งานควิลท์ในญี่ปุ่น จนถึงกับมีการจัดแสดงนิทรรศการรำลึกถึงละครเรื่องนี้ใน Tokyo International Quilt Festival เมื่อ 5 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ควิลท์เป็นตัวแทนของความอบอุ่นและครอบครัว ซึ่งคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก
งานทำมือ
การทำงานมือสักชิ้น การทุ่มเทเวลาและความพยายามลงไปในงานชิ้นนั้นๆ และมอบให้คนที่เรารักและเคารพ เป็นการกระทำที่คนญี่ปุ่นนิยม
ควิลท์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมักทำด้วยมือในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการต่อผ้าด้วยมือ เย็บประคอบและควิลท์ด้วยมือ รวมทั้งการย้อมผ้าเองอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันงานจักรก็ได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ความคุ้มค่า
จะสังเกตได้ว่า ควิลท์ของญี่ปุ่นนั้นมักจะใช้ผ้าชิ้นเล็ก ๆหลากหลายชิ้นนำมาเย็บต่อกัน แม้ในชิ้นงานจะมีสีซ้ำแต่ลายผ้ากลับแตกต่างกันออกไป อาจเป็นไปได้ว่าคนญี่ปุ่นมีความประหยัด และใช้ของอย่างคุ้มค่า
วัฒนธรรมการแยกขยะสะท้อนแนวคิดนี้ของคนญี่ปุ่นได้อย่างดี งานควิลท์ดั้งเดิมสไตล์อเมริกันนั้นก็เริ่มต้นจากการต่อเศษผ้าที่เหลือใช้เช่นกัน งานแอพลิเก้จึงได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น เพราะเศษผ้าเล็ก ๆก็ยังเก็บไว้ทำงานแอพลิเก้ได้ ผ้าที่ขายในญี่ปุ่นเพื่อทำงานควิลท์ก็มีการขายกันอย่างแพร่หลายในรูปแบบถุงใส่เศษผ้า (scraps bag) หรือการซื้อผ้าขนาดกว้างเพียง 10 เซ็นติเมตร (ความยาวตามหน้าผ้า) ในร้านควิลท์ของญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องที่พบเจอได้ทั่วไป
ความหลากหลายของผ้าและวัสดุ
ควิลท์ของญี่ปุ่นไม่จำกัดว่าต้องทำด้วยผ้าคอตตอนแต่เพียงอย่างเดียว มักมีการผสมผสานเส้นใยธรรมชาติมากมายในชิ้นงาน เช่น ผ้าไหม ผ้าทอ ผ้าลินิน ผ้าขนสัตว์ เป็นต้น
และมักพบว่ามีการผสมผสานงานปัก กระดุม หรือ ลูกปัดแบบต่างๆ ลงในควิลท์ด้วยเสมอ นอกจากนี้ผ้าคอตตอนพิมพ์ลายที่นำมาใช้ในงานควิลท์ ก็จะเห็นว่ามีการนำลายผ้าของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมลงไปให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เช่น ลายของชุดกิโมโนแบบต่าง ๆ
หากท่านใดมีโอกาส ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนมกราคม แม่มี้ก็อยากให้ลองไปเดินเล่นที่โตเกียวโดม สถานที่จัดงาน Tokyo International Quilt Festival สักครั้ง แม่มี้รับรองว่าคุ้มราคาค่าตั๋วเข้าชมงานอย่างแน่นอน
ที่มา
Comments