top of page

ควิลท์ = ศิลปะ?

อัปเดตเมื่อ 13 ก.ค. 2563

เมื่อวานแม่มี้ได้เข้าไปดูเวบไซต์ของ Tokyo Dome เพื่อดูข้อมูลการจัดงาน 2020 Tokyo International Quilt Show ว่าจะมีจัดอย่างไรเมื่อไหร่ ก็เลยไล่คลิ๊ก ไล่อ่านไปเรื่อย ๆ จนเข้าไปดูเวบไซต์ National Quilt Museum ของสหรัฐอเมริกา แล้วไปเห็นบทความประชาสัมพันธ์นิทรรศการที่เริ่มจัดในเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งใช้ชื่องานว่า OURstory: Human Rights Stories in Fabric (เรื่องราวของเรา: เรื่องของสิทธิมนุษยชนบนผืนผ้า)

ด้วย 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ ทุกท่าคงเห็นข่าวครึกโครมของการทำร้ายผู้ต้องสงสัยผิวดำโดยตำรวจผิวขาว จนกลายเป็นเรื่องราวประท้วงใหญ่โตและมีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันของคนต่างผิวสีต่างชาติพันธุ์ ซึ่งพวกเขาต่อสู้กันมาอย่างยาวนานในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญมากกับเสรีภาพ แต่ปัญาการเหยียดผิวกลับเป็นโรคเรื้อรังที่ยังคงรักษาไม่หาย

ทางพิพิธภัณฑ์จึงหยิบควิลท์ที่มีแนวคิดสนับสนุนความเท่าเทียมกันมาจัดแสดง 65 ชิ้น โดยเป็นผลงาน ของควิลเตอร์ 47 ท่าน จาก 6 ประเทศ โดยเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมนุษย์ พลเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้ผลงานที่จัดแสดง ยังสื่อถึงการยกย่องเชิดชูฮีโร่ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์พึงมีของมนุษย์ หวังเพื่อให้ผู้ชมผลงานได้ตระหนักและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพว่า "คนเท่ากัน" โดยหลายชิ้นงานมีการจัดแสดงคลิปเสียงบทสัมภาษณ์ของเหล่าศิลปินด้วย เพื่อให้เห็นแนวคิดเบื้องหลังงานแต่ละชิ้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นี่ทำให้เห็นว่า ควิลท์เป็นได้มากกว่าผ้าห่ม กลุ่มควิลท์เตอร์หลายท่านพยายามมาอย่างยาวนานที่ต้องการสื่อออกไปว่าควิลท์เป็น'งานศิลป์'แขนงหนึ่ง แต่ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างไปและถกเถียงว่า ควิลท์เป็น 'งานหัตถกรรม'

หากท่านใดเรียนมาทางสายศิลปะ คงสามารถบอกนิยามความแตกต่างของคำ 2 คำนี้ได้ แต่สำหรับแม่มี้ผู้ซึ่งไม่มีพื้นฐานทางศิลปะเลยคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์

งานประติมากรรม งานควิลท์ หรือจะชิ้นงานแขนงอื่น ๆ แก่นของงานนั้น คือการแสดงออกทางความคิด ความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตงานนั้น ๆ เพียงแต่ทำผ่านสื่อต่าง ๆ ตามทักษะที่แต่ละคนถนัดเท่านั้นเอง

ที่มา


ดู 25 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page